สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคือคุณภาพของสินค้าและบริการ แต่สิ่งแรกที่จะสะท้อนตัวตนของแบรนด์ออกมาสู่สายตาของผู้คนได้ชัดเจนที่สุดก็คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์
อัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand CI) คืออะไร? : คือตัวตน ภาพลักษณ์ และความเป็นแบรนด์นั้นๆ หากให้เปรียบเป็นคนแล้วคงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่หน้าตา แต่รวมถึงบุคลิก การแต่งกาย ลักษณะนิสัย และองค์ประกอบทุกอย่างที่รวมกันเป็นคนคนนั้น แบรนด์เองก็เช่นกัน
กว่าจะออกมาเป็นแบรนด์หนึ่งจึงมีกระบวนการสร้างมากมาย ตั้งแต่รูปแบบของโลโก้ ฟอนต์ สี รวมไปถึง Mood & Tone ที่จะนำมาใช้ เพื่อสื่อให้เห็นว่าตัวตนของแบรนด์นั้นเป็นอย่างไร กลุ่มลูกค้าเป็นใคร และต้องการขายอะไร
Mood & Tone
คือการใช้อารมณ์และความรู้สึกเข้ามาช่วยในการออกแบบ
“Mood” คือ อารมณ์ของภาพที่แสดงออกมาให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ความสุข ความเศร้า หรือแม้แต่ความหวาดกลัว
ศิลปะบางชิ้นสามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างชัดเจน ผ่านการแสดงสีหน้าของบุคคลในภาพ แต่บางชิ้นอาจต้องตีความจากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นแสง สี หรือวัตถุต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ การไปชมผลงานศิลปะ จึงทำให้ใครหลายคนใช้เวลามากมายไปกับการจ้องมองผลงานชิ้นนั้นๆ และแม้จะเป็นผลงานชิ้นเดียวกัน แต่กลับถูกตีความแตกต่างกันไปแล้วแต่มุมมองของคนที่พบเห็น
เมื่อ Mood ในผลงานบางชิ้นนั้นสามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้มากมายและถูกตีความได้หลายรูปแบบ อาจทำให้สารของผู้ที่ต้องการจะบอกเล่านั้นผิดเพี้ยนไป
“Tone” ซึ่งหมายถึงสีที่ใช้ จะเข้ามาช่วยให้เราสามารถออกแบบผลงานโดยสื่ออารมณ์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สีจึงมักจะถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ เพื่อแสดงตัวตนและภาพลักษณ์ของแบรนด์ เช่น
สีแดง สื่อถึง ความคล่องแคล่ว, อารมณ์ที่รุนแรง, หลงใหล, ความแข็งแกร่ง หนักแน่น ดุดัน, ความรัก
ตัวอย่างธุรกิจ : สายการบิน, ร้านอาหาร Fast Food (Mc, KFC, Burger King)
สีชมพู สื่อถึง ความอ่อนหวาน, โรแมนติก, น่ารัก, ขี้เล่น, อ่อนโยน
ตัวอย่างธุรกิจ : เครื่องสำอาง เช่น Etude, ขนมหวาน เช่น Baskin Robbins
สีส้ม สื่อถึง ความกระตือรือร้น, ความสำเร็จ, เป็นมิตร, มุ่งมั่น
ตัวอย่างธุรกิจ : แอป Online Shopping ต่างๆ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่สีส้ม แต่ก็มักจะใช้สีโทนร้อน นั่นก็เพื่อสร้างความรู้สึกกระหาย เหมือนเวลาเราเห็นป้าย Sale แล้วต้องรีบพุ่งเข้าใส่
สีเหลือง สื่อถึง คนรุ่นใหม่, ความเยาว์วัย, มีชีวิตชีวา, สดใส
ตัวอย่างธุรกิจ : การออกแบบและไอเดีย, Ikea, Snapchat, Mr. DIY
สีเขียว สื่อถึง ความสดชื่น, สงบ, ผ่อนคลาย, ความไว้ใจ, สันติ, ความหวัง
ตัวอย่างธุรกิจ : ร้านกาแฟ เช่น Starbucks และ Amazon , สินค้าออร์แกนิก, สิ่งที่เกี่ยวกับสุขภาพและการเกษตร
สีน้ำเงิน สื่อถึงความน่าเชื่อถือ, ชัดเจน, สุขุม, ซื่อสัตย์, พึ่งพาได้
ตัวอย่างธุรกิจ : สินค้า IT (เช่น Advice IT และ JIB), การเงิน, บริการด้านวีซ่า, กฎหมาย
สีม่วง สื่อถึง ความมีเสน่ห์, พลัง, หรูหรา, ลึกลับ, ความทะเยอทะยาน
ตัวอย่างธุรกิจ : ศรีจันทร์, การบินไทย
สีขาว สื่อถึง ความสะอาด, ไร้เดียงสา, บริสุทธิ์, Minimal
ตัวอย่างธุรกิจ : Apple, เครื่องประดับ เช่น Swarovski
สีดำ สื่อถึง การมีพลัง, กล้าหาญ, จริงจัง, สง่า, ความหรูหราโอ่อ่า, เป็นทางการ
ตัวอย่างธุรกิจ : รถยนตร์, เครื่องประดับ, สินค้าแบรนด์เนม เช่น CHANEL และ Louis Vuitton
สีน้ำตาล สื่อถึงบ้าน, ความน่าไว้วางใจ, เรียบง่าย, ความอดทนอดกลั้น
ตัวอย่างธุรกิจ : ช็อกโกแลต เช่น m&m และแม็กนั่ม, อาหาร, ที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ การทำออกแบบโลโก้นั้นไม่จำเป็นต้องใช้สีที่แบรนด์อื่นๆ ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันนิยมใช้เสมอไป ที่ซันนี่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ความนิยม และแนวโน้มของสีที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ และสื่อให้เห็นว่าเมื่อเราเห็นสีนั้นแล้วจะนึกถึงธุรกิจในหมวดหมู่ใด
ธุรกิจบางประเภทก็แทบจะมีครบทุกสี ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารในประเทศไทย ที่เวลาเห็นตู้ ATM วางเรียงกันทีไร สีสันสดใสยิ่งกว่าสายรุ้งอีก จริงไหมคะ
ตัวอย่างการเลือกใช้สีในการออกแบบแบรนด์ต่างๆ
มาลองดูกันดีกว่า ว่าถ้าได้เห็นแค่สี จะนึกออกมั้ยว่านี่คือแบรนด์อะไร
ติ๊ก
.
ตอก
.
เป็นยังไงกันบ้าง พอจะนึกออกไหมคะ หลายแบรนด์ดังที่เราได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น ถึงแม้จะไม่ได้เห็นโลโก้ แต่แค่เห็นสีก็รู้เลยใช่มั้ยคะว่าคือแบรนด์อะไร
นี่คือหนึ่งในสิ่งที่เป็น ‘อัตลักษณ์ของแบรนด์’ และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกใช้สี ที่นอกจากจะช่วยบ่งบอกอารมณ์ แสดงตัวตนของแบรนด์ออกมาได้ผ่านโลโก้ ยังช่วยให้ผู้คนจดจำได้ง่ายขึ้นอีกด้วยค่ะ
การเลือกใช้สีของ Sunnysideup Studio
แม้จะมีสีไม่มาก แต่แค่เห็นก็รู้ได้เลยว่ามันคือ ไข่ดาวแบบตะโกน!
สีเหลือง คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ สดใส เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และพลังเหลือล้น
สีขาว คือตัวแทนความ Minimal
บ่งบอกว่าเราคือเอเจนซี่คนรุ่นใหม่ พร้อมจะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม
นอกจากเรื่องสีแล้ว ยังมีองค์ประกอบและรายละเอียดอีกยิบย่อยที่จะสามารถนำเสนอ Mood & Tone ของแบรนด์ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของสินค้า, การตกแต่งร้าน (Decoration), บรรจุภัณฑ์ (Packaging), Font หรือการออกแบบโลโก้ (Logo Design)
แล้วซันนี่จะรวบรวมข้อมูลดีๆ แบบนี้มาเล่าให้ฟังใหม่ในคราวหน้านะคะ : )
ขอบคุณข้อมูลและไอเดียจาก :
- https://venngage.com/blog/how-to-pick-colors/
- https://www.facebook.com/graphicbuffet.co.th/posts/1974073346140329
- https://www.rebootonline.com/blog/what-importance-colour-brand-recognition/