พฤติกรรมของผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และเทรนด์โลกในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้เป็นยุคที่หลายสิ่งเริ่มฟื้นฟูหลังโรคระบาด ซึ่งมีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด
หากเราหมั่นสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคบ่อยๆ ก็จะช่วยให้เราปรับตัวได้ไว พาธุรกิจของเราให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น เทรนด์ผู้บริโภคที่น่าสนใจและกำลังมาแรงในช่วงนี้มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
1. Phygital Experiences
“ฟิจิทัล” คือการผสานโลกจริงเข้ากับโลกดิจิทัล อันเป็นเทรนด์แห่งยุคปัจจุบันที่ธุรกิจแทบทุกประเภทไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนทำใหัมันไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์เท่านั้น คำที่แปลกหูนี้ อาจจะฟังดูเหมือนไกลตัว แต่จริงๆ แล้วความฟิจิทัลอยู่ใกล้กับเรามากกว่าที่คิด เช่น
- การสั่งอาหารผ่านแอปฯ และไรเดอร์มาส่งอาหารให้เราถึงหน้าบ้าน
- การสั่งของผ่านแอปฯ Online Shopping
- การใช้บริการธนาคารผ่านระบบดิจิทัล
- การสร้างรองเท้าผ้าใบที่สามารถสวมใส่ได้ทั้งในโลกจริงและโลกดิจิทัล (NFT)
- กรณีที่สามารถโหลดรูปออนไลน์หรือสแกนรับรูปผ่าน QR Code ได้ที่ตู้ถ่ายภาพ
2. Automation / Self-Service
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Human Error” ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติของการทำงาน แต่หลายๆ บริษัทก็พยายามจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ ด้วยการใช้ “เครื่องจักร” หรือ “การบริการตนเอง” มาแก้ปัญหา
แต่โจทย์ยากก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจเทียบเท่ากับการใช้แรงงานคนและได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป
หลายคนอาจเคยเห็นร้านค้าหรือสถานที่บางแห่ง ที่ทำให้ “การบริการตนเอง” ดูเป็นเรื่องชิคๆ คูลๆ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าดูเป็นแบบนั้นจริง! เพราะการเข็นรถไปรับอาหารและน้ำดื่มด้วยตัวเองก็ดูเป็นอะไรที่เก๋ และสร้างคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดียได้เหมือนกันใช่ไหมล่ะคะ 😉
3. ทุกอย่างต้องคุ้มค่า เพราะภาวะเงินเฟ้อ
ด้วยสภาวะหลายอย่าง ไม่ว่าจะข้าวของที่ราคาแพงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฝืดเคืองแต่เงินยังคงเฟ้อต่อเนื่อง อีกทั้งบทเรียนจากโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ผู้คนเริ่มคิดถึงความคุ้มค่าในการจับจ่าย ธุรกิจต่างๆ จึงต้องงัดกลยุทธ์ขึ้นมาสู้ เช่น
- การออกแพ็คเกจที่ทำให้รู้สึกว่า ยิ่งซื้อเยอะ ยิ่งคุ้มค่า
- การจองซื้อสินค้าก่อน (Pre-Sale) เป็นการทำให้รู้สึกพิเศษขึ้น และการันตีได้ว่าจะได้รับสินค้าแน่นอน
- ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ที่มักจะพบบ่อยๆ ตามแอปฯ ซื้อของออนไลน์
- โปรโมชั่นมากมาย โดยเฉพาะในวัน Double Day
4. สุขภาพคือเรื่องสำคัญ
แน่นอนว่าผลกระทบจากโรคระบาดทำให้ผู้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ทำให้ธุรกิจประเภทฟิตเนส, เครื่องมือออกกำลังกาย หรืออาหารสุขภาพกำลังได้รับความนิยม ยกตัวอย่างเช่น
สังเกตได้จากร้านอาหารคลีนหรืออาหารเพื่อสุขภาพที่โผล่ขึ้นมาในแอปฯ มากขึ้น รวมไปถึงร้านทั่วๆ ไปก็เริ่มมีทางเลือกในการกินที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน
- ร้านอาหารเพื่อสุขภาพโผล่ขึ้นมาในแอปฯ สั่งอาหารมากขึ้น
- ร้านอาหารทั่วไปเริ่มมีเมนูทางเลือกสำหรับผู้ทานมังสวิรัติ, ผู้ที่ต้องการลดโซเดียม หรืออาหารแคลอรี่ต่ำ
- ร้านกาแฟที่เพิ่มนมโอ๊ตหรือนมอัลมอนด์เข้ามาในเมนู
- อุปกรณ์ (Gadget) เพื่อสุขภาพเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น นาฬิกาอัจฉริยะที่เอาไว้วัดค่าออกซิเจนในเลือด, อัตราการเต้นของหัวใจ หรือเอาไว้ในนับแคลอรี่เวลาออกกำลังกาย
- เครื่องออกกำลังกายเริ่มมีราคาที่จับต้องได้ และมีการออกแบบให้ขนาดกะทัดรัด เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมืองมากยิ่งขึ้น
5. รักษ์สิ่งแวดล้อม
หลายคนอาจเคยเห็นหลายๆ แบรนด์พยายามนำเสนอภาพลักษณ์ออกมาในรูปแบบของ “การห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เช่น การพาพนักงานไปปลูกป่า, การบริจาคเงินจำนวนมากให้กับโครงการดูแลระบบนิเวศน์ในทะเล แต่กลับเป็นโรงงานของแบรนด์เหล่านั้นเสียเอง ที่ใช้กระบวนการผลิตอันก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล
ในยุคปัจจุบันที่อะไรๆ ก็ไปไวในโซเชียล ส่งผลให้แบรนด์เหล่านั้นทำการตลาดแบบ “รักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยผิวเผินไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะตรวจสอบ และก็เป็นผู้บริโภคอีกนั่นเอง ที่จะตัดสินใจต่อไป ว่าจะเลือกซื้อสินค้าหรือไม่ จากแบรนด์ที่มีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะไม่ตรงกับอุดมการณ์ของตนเอง
6. ความต้องการนำเสนอตัวตน
การมาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียย่อมส่งผลต่อการแสดงออกของคนไม่มากก็น้อย สังเกตได้จากสินค้าหลายๆ อย่างก็ไม่ได้ถูกใช้งานด้วยฟังก์ชั่นที่แท้จริง แต่ถูกซื้อมาเพื่อ “นำเสนอความเป็นตัวตนของผู้ใช้งาน” เช่น
- ของชิ้นใหญ่อย่างรถหรือบ้าน
- เครื่องสำอางที่แม้จะใช้งานได้คล้ายกัน แต่ก็มีหลายแบรนด์ หลายราคา
- ของธรรมดาๆ อย่างพวงกุญแจห้อยกระเป๋า ที่อาจจะมีราคาแพงกว่ากระเป๋า
- กระเป๋าสะพายใบเล็กที่อาจจะใส่ไม่ได้แม้แต่โทรศัพท์มือถือ
- การที่แบรนด์ออกแคมเปญให้ผู้บริโภคมาออกแบบลายรองเท้า หรือลายกระเป๋าที่มีเพียงใบเดียวในโลก
แต่ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร มีราคาเท่าไหร่ ก็ล้วนเป็นความพึงพอใจของแต่ละบุคคลค่ะ
ไม่ว่าอย่างไร พฤติกรรมของผู้บริโภคก็ย่อมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เทรนด์ที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจใช้ไม่ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมีอะไรน่าสนใจ ซันนี่จะนำมาเล่าให้ฟังใหม่นะคะ 😉
ขอบคุณข้อมูลจาก
- forbes : http://bit.ly/3lwbxLm
- marketthink : http://bit.ly/3LAQZMl
- the standard : http://bit.ly/3LBWw59
- peerpower : http://bit.ly/3JXdXvZ