“กัญชา” โอกาสใหม่ที่หลายธุรกิจกำลังจับตามอง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เริ่มนำกัญชามาใส่ในเมนูกันบ้างแล้ว ล่าสุด วันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยได้ยื่นร่าง “พรบ. กัญชา กัญชง” ต่อสภา ซึ่งหากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานแบบ “กัญชาเสรี” ได้เช่นกัน
ดังนั้น หากธุรกิจใดวางแผนจะนำกัญชามาใช้ในผลิตภัณฑ์ ควรศึกษารายละเอียดทางกฎหมายเสียก่อน ว่าหลัง “พรบ. กัญชา กัญชง” มีผลบังคับใช้ในอนาคต จะมีโอกาสและข้อจำกัดอะไรบ้าง
ข้อจำกัดในการใช้กัญชา หลัง “พรบ. กัญชา กัญชง” มีผลบังคับใช้
1. กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป ทั้งในส่วนของ ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น รากและเมล็ด
2. อนุญาตให้ใส่กัญชาในอาหารได้ โดยมีปริมาณสาร THC ที่สกัดจากกัญชา ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
3. ห้ามขายกัญชาเพื่อการบริโภค คือ กิน เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีใดๆ หรือรูปแบบใดๆ แก่ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
4. ร้านค้า ร้านอาหาร ที่นำกัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหาร ต้องซื้อกัญชาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เช่น วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานรัฐ
ตรวจสอบแหล่งปลูกถูกกฎหมายได้ที่
https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Pages/Main.aspx
5. การสกัด-แปรรูป รวมถึงการขาย ส่งออก และนำเข้า ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
การปลูกกัญชา แยกเป็น 2 ประเภท
1. การปลูกในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้ง ต้องปลูกตามจำนวนที่กำหนด และไม่นำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม
2. การปลูกในเชิงพาณิชย์ ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.
การโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา
การโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา
ต้องขออนุญาตโฆษณากับ อย. ตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดใน “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (เฉพาะกัญชา)”
โดยโฆษณาได้เพียง 2 กรณี คือ
1. การโฆษณาในลักษณะการให้ข้อมูลทางวิชาการ แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน เท่านั้น
2. การโฆษณาในลักษณะเอกสารเลียนแบบฉลาก หรือเอกสารกำกับยาบนภาชนะบรรจุกัญชา
กล่าวโดยสรุป ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลเชิงวิชาการ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ไปให้กับแพทย์และเภสัชกรได้ แต่ต้องมีการขออนุญาตกับอย. ล่วงหน้า
*ทั้งนี้ “ไม่อนุญาตให้โฆษณาทางการค้าผ่านสื่อใดๆ ต่อประชาชนทั่วไป”
กฎหมายเกี่ยวกับกัญชามีความละเอียดซับซ้อน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์จำนวนมากละเมิดข้อบังคับในการใช้กัญชา ทำให้มีความผิดตาม “พรบ. ยาเสพติดให้โทษ” ดังนั้นหากต้องการนำกัญชามาใช้ในผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม ควรศึกษารายละเอียดและข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :
- www.bangkokbiznews.com, “ปลดล็อกกัญชา” พ้นกฎหมายยาเสพติด สิ่งไหนทำได้ – ไม่ได้
- http://cannabis.fda.moph.go.th, อย. ย้าชัด ! กฎหมายโฆษณากัญชาเพื่อให้ข้อมูลกลุ่มแพทย์ รองรับยากัญชาในประเทศที่ใกล้ผลิตเสร็จแล้ว
- www.pptvhd36.com, อย.ยัน ปรุงอาหารเมนูกัญชา ไม่ผิดกฎหมาย จ่อ ปลดล็อกทำเครื่องสำอาง-ยาใช้ภายนอก
- https://d.dailynews.co.th, อย.ย้ำชัดห้ามโฆษณากัญชาผ่านสื่อ