Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

เช็คก่อนใช้! ระวังฟอนต์ติดลิขสิทธิ์ : รวมแหล่งดาวน์โหลดฟอนต์

การมีฟอนต์สวยๆ สำหรับใช้ทำสื่อในร้านค้าก็เป็นสิ่งดีที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้ แต่เพื่อนๆ จะรู้มั้ยว่าฟอนต์ที่ใช้อยู่ “ถูกลิขสิทธิ์รึป่าว” ถ้าไม่อยากต้องมาเสียค่าปรับเป็นหมื่นเป็นแสนกันทีหลัง วันนี้เราจะมาอธิบายเรื่องของ “ลิขสิทธิการใช้ฟอนต์” ให้ทุกคนรู้กัน!

สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังลงมือทำธุรกิจหรือสร้างแบรนด์เอง มักจะเจอปัญหาจากการเลือกใช้ฟอนต์ผิดหรือใช้ฟอนต์ไม่ได้กันจาก 2 สาเหตุ ก็คือ

  1. ไม่รู้ว่าฟอนต์มีลิขสิทธิ์ โดยคนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้มักคิดว่า “เขาเปิดให้โหลดได้ = ให้นำไปใช้ได้” แต่เราขอให้ระวังกันใหม่ แล้วเปลี่ยนเป็นคิดว่า อะไรที่อยู่บนออนไลน์แล้วไม่ได้ออกแบบเอง = ต้องมีคนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ ดีกว่า
  2. ไม่รู้แหล่งที่มาที่แท้จริงของฟอนต์ เกิดจากปัญหาที่ผู้ใช้ โหลดฟอนต์มาใช้กันแบบไม่รู้และไม่ได้เช็คว่าใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง รวมถึงการนำคอมพิวเตอร์ไปลง Software “เถื่อน” ทำให้ได้รับฟอนต์เถื่อนมาใช้แบบไม่รู้ตัว หรือแม้แต่การจ้าง Freelance ออกแบบงาน ที่เราก็ไม่อาจรู้ว่าฟอนต์ที่เขาใช้ติดลิขสิทธิ์หรือไม่

ฟอนต์ติดลิขสิทธิ์มีวิธีการเช็กได้อย่างไร

หากเราไม่รู้ว่าฟอนต์ที่ตัวเองกำลังใช้อยู่เป็นฟอนต์ที่ติดลิขสิทธิ์หรือไม่ เราก็สามารถตรวจสอบสอบด้วยตัวเองได้ง่ายๆ เพียงแค่ นำชื่อฟอนต์ที่ใช้ไปเสิร์ชบน Google 
โดยแนะนำว่าให้ลอง Recheck กับ 2-3 แหล่งเพื่อตรวจสอบถึงที่มาของเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงด้วยนะคะ

ตัวอย่างเว็บไซต์ตรวจสอบลิขสิทธิ์ฟอนต์: fonts2u

ฟอนต์มีกี่ประเภท

สำหรับฟอนต์ที่เราใช้กันโดยทั่วไป สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1. Free For Commercial Use
ฟอนต์ที่สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานในเชิงการค้า หรือ เชิงพาณิชย์ได้ 100%

เป็นฟอนต์ประเภท OFL หรือ Open Font License เป็นลิขสิทธิ์ฟอนต์ในแบบเปิดที่ให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะเป็นการ Open เพื่อให้ผู้ใช้ได้เสนอความคิดเห็น เพื่อการศึกษา หรือเพื่อพัฒนารูปแบบฟอนต์ต่อไป
ข้อสำคัญ : ไม่สามารถนำไปแจกจ่าย ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือ ขาย ได้

แหล่งดาวน์โหลดฟอนต์

  • Google Fonts
    ฟอนต์ที่จัดทำขึ้นโดย Google เพื่อแก้ไขเรื่องของการแสดงผลบนเว็บไซต์ให้มีความสวยงาม เป็นการออกแบบของ Google ที่ใช้การจ้างผู้ออกแบบของแต่ละประเทศในการออกแบบฟอนต์ที่เป็นภาษาของตัวเอง สำหรับในไทยผู้รับผิดชอบก็คือ
    บ.คัดสรรดีมาก
  • Noto Fonts
    เป็นอีกแพลตฟอร์มของ Google ที่เป็นการทำงานระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาของฟอนต์ที่ไม่สามารถแสดงผลของ “ภาษา” (ฟอนต์ที่ขึ้นแสดงเป็นกรอบสี่เหลี่ยม) ในขณะที่เราใช้งานคนละแพลตฟอร์ม หรือบนระบบปฏิบัติการที่ต่างกัน

2. Personal Use
ฟอนต์ที่นำไปใช้แบบส่วนบุคคลหรือใช้งานส่วนตัว ที่ไม่ได้สร้างรายได้หรือการทำธุรกิจ

เป็นการใช้ฟอนต์ในรูปแบบการทำงานทั่วไป เช่น ทำรายงาน ทำการ์ด ทำโปสเตอร์ แบบไม่แสวงหาผลกำไร ส่วนใหญ่ฟอนต์ประเภทนี้จะเป็นการเปิดให้ใช้เพื่อทดลอง แต่หากผู้ใช้ต้องการใช้งานในเชิงพาณิชย์ ก็สามารถติดต่อไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อเป็นการสนับสนุนผลงานได้

แหล่งดาวน์โหลดฟอนต์

  • f0nt.com
    บางประเภทเปิดให้ใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ และบางประเภทอาจมีกำหนดเงื่อนไขในการนำไปใช้ สามารถเช็กลิขสิทธิ์เพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์

3. Software/Product + Fonts
ฟอนต์ที่มาพร้อมกับการซื้อ/เช่าโปรแกรม หรือผลิตภัณฑ์บางอย่าง

เป็นฟอนต์ที่สามารถนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะเป็นฟอนต์ที่มาพร้อมกับการซื้อ Window หรือ Adobe ซึ่งสิ่งสำคัญคือโปรแกรมเหล่านั้นจะต้อง “ถูกลิขสิทธิ์” เพราะจะเป็นการการันตีได้ด้วยว่าฟอนต์ที่นำมาใช้นั้น “เป็นฟอนต์ที่ถูกลิขสิทธิ์”

หรือสำหรับคนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Apple IOS (Mac) ก็จะมีฟอนต์มาตรฐานสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ติดมาด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Font Sukhumvit ที่เป็นการออกแบบให้ใช้ฟรีโดย บ.คัดสรรดีมาก

4. Font License
ฟอนต์ที่ต้องมีการซื้อก่อนถึงจะสามารถนำไปใช้งานได้

เป็นฟอนต์ที่สามารถพบเจอได้บน Marketplace ต่างๆ โดยเราสามารถเลือกซื้อและจ่ายค่าลิขสิทธิ์เองได้โดยตรงกับตัวเจ้าของผลงาน

แหล่งดาวน์โหลดฟอนต์

  • DB Fonts
    เว็บไซต์ที่นิยมในบริษัทใหญ่ๆ และ ร้านรับออกแบบ มีแพ็คเกจราคาให้เลือกตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

เป็นยังไงกันบ้างคะ? รู้แบบนี้แล้ว ถ้ายังไม่อยากใช้ฟอนต์ผิดลิขสิทธิ์แล้วต้องเสี่ยงโดนจับปรับกันทีหลัง คราวหน้าอย่าลืมเช็กกันดูด้วยนะคะว่าฟอนต์ที่ตัวเองกำลังใช้อยู่เป็นฟอนต์ประเภทไหน? มีแหล่งที่มาจากใคร? จะได้นำไปใช้งานกันได้อย่างถูกต้องนะ

Leave a comment