หน้าที่ของแพคเกจจิ้งคือดึงดูดสายตาลูกค้าและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของเรา แต่แพคเกจจิ้งก็เป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จะดีกว่าไหม? ถ้าแพคเกจจิ้งของเรามีหน้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
ซันนี่พามาดูไอเดียแพคเกจจิ้งสุดเจ๋ง บางไอเดียมาจากแบรนด์ระดับโลก บางไอเดียมาจากดีไซเนอร์ที่มีความใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม หากไอเดียไหนเข้ากับสินค้าของเรา ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กันได้เลย!
Lush
แบรนด์สกินแคร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์และวิธีการใช้งานของผู้บริโภค Lush มักจะออกแบบแพคเกจจิ้งให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในสินค้าบางรุ่น แบรนด์ออกแบบแพคเกจจิ้งโดยผลิตจากไม้คอร์ก สินค้าบางรุ่นไม่มีแพคเกจจิ้งเลย และสินค้าบางรุ่นที่ยังจำเป็นต้องใช้พลาสติกอยู่ Lush ก็ใช้พลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์
The Mug Pub Beer
ดีไซเนอร์ : Ivan Maximov
ไอเดียบรรจุภัณฑ์แก้วเบียร์สำหรับบาร์ Mug Pub ในกรุงมอสโก ออกแบบมาเพื่อการขายเบียร์แบบ take-away ตัวแก้วผลิตจากกระดาษ และมีลังกระดาษลูกฟูกที่พับเป็นหูหิ้ว ช่วยให้สามารถหิ้วออกจากร้านได้โดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก
ดีไซน์นี้นอกจากจะใช้วัสดุย่อยสลายง่ายแล้ว ยังดูสวยงาม แข็งแรง และสามารถเพิ่มมูลค่าให้เครื่องดื่มได้ด้วย ใครถูกใจไอเดียนี้ ก็สามารถนำไปประยุกต์กับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ หรือสินค้าอื่นๆ ได้
Sabke Rang
ดีไซเนอร์ : Tanishtha Pai
แบรนด์ท้องถิ่นจากประเทศอินเดีย ที่ผลิตสีจากธรรมชาติสำหรับเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลสาดสีในเดือนเมษายนของทุกปี คนอินเดียใช้สีเหล่านี้โปรยตามท้องถนน หรือทาตกแต่งใบหน้าและร่างกายในเทศกาล สีที่ใช้จึงควรปลอดภัยต่อสุขภาพ
ดีไซเนอร์จึงออกแบบแพคเกจจิ้งของ Sabke Rang ให้เป็นถุงกระดาษคราฟท์มีซิปล็อกที่ใช้งานง่าย พิมพ์ลวดลายที่บ่งบอกว่าสีนั้นๆ ผลิตจากพืชชนิดใดบ้าง ทั้งสวยงามน่าใช้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Lyra Chocolate
ดีไซเนอร์ : Michal Slovák
แบรนด์ช็อกโกแลตที่มีแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ของสินค้าทุกชนิดล้วนออกแบบโดยใช้กระดาษคราฟท์สีน้ำตาล และใช้หมึกพิมพ์น้อยที่สุด
แม้ว่าการออกแบบด้วยกระดาษคราฟท์อาจทำให้แพตเกจจิ้งดูไม่แข็งแรงหรือดูน่าเบื่อ แต่ Lyra สามารถทำให้แพคเกจจิ้งทุกชิ้นดูโดดเด่นได้ ด้วยการพิมพ์รายละเอียด เช่น โลโก้แบรนด์ และตัวอักษรเล็กๆ ตามจุดต่างๆ เป็นสีทอง ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้แพคเกจจิ้ง แต่ยังคงความเรียบง่ายของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
Bean to Bear Chocolate
ดีไซเนอร์ : Cecília Pletser
อีก 1 ไอเดียแพคเกจจิ้งสำหรับแบรนด์ช็อกโกแลต ที่ออกแบบให้มีความคราฟท์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การห่อช็อกโกแลตในรูปแบบซองจดหมาย ปั๊มโลโก้แบรนด์ด้วยตรายาง ไปจนถึงการใช้ภาพกราฟิกแบบลายเส้น โดยใช้กระดาษรีไซเคิลผสมเส้นใยธรรมชาติเป็นกระดาษห่อช็อกโกแลตด้วย
Natural Doze
ดีไซเนอร์ : Vitamin Revolution
ไอเดียแพคเกจจิ้งสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม ที่ต้องการฉีกกรอบการทานอาหารเสริมแบบเดิมๆ ซึ่งดูน่าเบื่อ และทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่ากำลังรับประทาน “ยา” ดีไซเนอร์จึงออกแบบให้แพคเกจจิ้งมีสีสันสดใส เพิ่มลูกเล่นให้การรับประทานวิตามินมีความสนุกสนานมากขึ้น นอกจากนี้ยังออกแบบแพคเกจจิ้งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ขวดแก้ว พลาสติกย่อยสลายได้ และกระดาษรีไซเคิล
C2 Water No Label
ดีไซเนอร์ : Prompt Design
ผลงานการออกแบบขวดน้ำดื่มไร้ฉลากสินค้าของสตูดิโอดีไซเนอร์ไทย ที่คว้ารางวัลการประกวดแพคเกจจิ้งระดับโลกจากเวที Dieline Awards ในปี 2021 โดยมีแนวคิดจากปัญหาการรีไซเคิลขวดน้ำ ขวดน้ำพลาสติกส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากที่พันรอบขวดนี้มักผลิตจากพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้และย่อยสลายยาก
ขวดน้ำดื่ม C2 Water No Label จึงถูกออกแบบให้ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ปั๊มข้อมูลสินค้าลงบนขวดแทนการพิมพ์ลงบนฉลาก และปั๊มลวดลายสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ไว้รอบขวด เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
และนี่ก็เป็นไอเดียแพคเกจจิ้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ซันนี่นำมาฝาก แม้ว่าบางไอเดียจะยังไม่ได้นำไปผลิตจริงแต่ก็สามารถนำไปต่อยอดได้ เพราะปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และแบรนด์ต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ ผ่านการออกแบบแพคเกจจิ้งของเรานั่นเอง
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :
- https://packagingoftheworld.com
- https://www.designerpeople.com, Creative Eco-Friendly Packaging Design for Inspiration
- www.trendhunter.com, The Mug Pub by Ivan Maximov is for Eco-Friendly Boozers